นอนกรนเป็นอาการ ที่แสดงให้เห็นว่าทางเดินหายใจของเรามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น คือ ตีบหรือแคบลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง ทั้งๆ ที่ ทุกส่วนของร่างกายจำเป็นต้องใช้ ออกซิเจนทุกวินาที
กลไกในการเกิดนอนกรน คือ เมื่อนอนหลับ ทางเดินลมหายใจตอนบน (จมูก ช่องปาก และลำคอ) ตีบ แคบลงจากสาเหตุต่างๆ อากาศที่ผ่านเข้าในทางเดินลมหายใจจึงต้องมีแรงดันเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อต่างๆในช่องปากและช่องลำคอที่ไม่ได้มีกระดูกเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ เพดานอ่อน ลิ้นไก่ เนื้อเยื่อต่อมทอนซิล เป็นต้น จึงส่งผลทำให้เกิดเป็นเสียงดังผิดปกติขึ้น พบได้ในทุกอายุ ตั้ง แต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้สูงขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า อาการนี้พบได้ประมาณ 24-30% ในผู้ใหญ่ผู้ชาย และประมาณ 15% ในผู้ใหญ่ผู้หญิง และจะเพิ่มสูงเป็นประมาณ 60% ในผู้ชาย และประมาณ 40%ในผู้หญิง เมื่อมีอายุได้ 60-65 ปี
โดยการนอนกรนสามารถจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การนอนกรนชนิดไม่อันตราย คือ การนอนกรนธรรมดา มีการตีบแคบลงของทางเดินหายใจขณะนอนหลับบางส่วน ซึ่งทำให้เกิดเสียงรบกวนแก่ผู้ร่วมห้องนอน ซึ่งจัดเป็นชนิดไม่อันตราย
ผล : ไม่มีผลกระทบต่อตัวเอง แต่มีผลกระทบต่อผู้ร่วมห้องนอนเป็นหลัก ในเรื่องของเสียงรบกวน จะทำให้ผู้ร่วมห้องนอน นอนหลับได้ไม่สนิท
2. การนอนกรนชนิดอันตราย คือ การนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ Obstructive sleep apnea (OSA) ร่วมด้วย เนื่องจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจขณะนอนหลับ ทำให้เกิดการหยุดหายใจ จึงทำให้เสียงกรนไม่สม่ำเสมอ อาจมีการสะดุ้งตื่น กลั้นหายใจ หายใจแรง หรือ สำลักร่วมด้วย ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
ผล : มีผลกระทบทั้งต่อตัวเองและผู้ร่วมห้องนอน สำหรับผลกระทบต่อตัวเอง เนื่องจากร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง จะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าคนปกติอาทิ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น